Post

สัมภาษณ์สมาชิก: แววรินทร์ บัวเงิน กลุ่มรักษ์บ้านแหง

(Read in English.)

คำอธิบาย: แววรินทร์หรือโจ้มาจากภาคเหนือของประเทศไทย โจ้และแกนนำในชุมชนได้ร่วมมือกับมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ในการต่อสู้เป็นเวลาหลายปีเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการทำเหมืองลิกไนต์ในพื้นที่ คลิกที่นี่เพื่ออ่านข้อมูล เกี่ยวกับการต่อสู้ของกลุ่มรักษ์บ้านแหง (เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น).

 

1. ประสบการณ์หรือบุคคลใดเป็นแรงบันดาลใจให้คุณเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อที่ดินและความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม?

แววรินทร์ บัวเงิน

 

กลุ่มรักษ์บ้านแหงได้ดำเนินการต่อสู้กับโครงการเหมืองแร่ในภาคเหนือของประเทศไทยมากว่า 10 ปี เมื่อเราทราบว่าบริษัทเขียวเหลือง (GY) ได้รับสัมปทานให้ทำเหมืองแร่เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 เรารู้ว่าจะต้องต่อสู้กับการแย่งชิงที่ดินครั้งนี้ ในฐานะผู้ประสานงานของกลุ่ม ดิฉันกับทางกลุ่มได้ร้องขอความช่วยเหลือจากบุคคลต่าง ๆ ที่เราเคารพ แต่หลายคนกลับหัวเราะเยาะใส่เรา และกล่าวหาว่าเป็นการเข็นครกขึ้นภูเขา เราทำไม่ได้หรอก พวกเขาบอกเราแบบนั้น และพวกเขาบอกให้เรายุติการต่อต้านโครงการเหมืองแร่ บริษัทตามมาคุกคามเราทั้งที่ทำงาน บีบให้เราต้องลาออกจากงานที่ทำ บริษัทยังหลอกลวงให้ชาวบ้านบ้านแหงให้ขายที่ดินให้กับพวกเขา ทำให้เราเห็นความอยุติธรรม และเราจึงได้เริ่มทุ่มเททำงานในการรณรงค์ครั้งนี้

พวกเขาเอาป้ายไปติดตามที่ต่าง ๆ เพื่อคุกคามคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ ในป้ายบอกว่า ทางบริษัทได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ในการใช้ที่ดิน และไม่อนุญาตให้มีการบุกรุก แม้ว่าที่ดินเหล่านั้นบางส่วนยังเป็นที่ดินทำกินของชาวบ้าน พวกเขาได้นำเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาจับกุมชาวบ้าน กล่าวหาว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก มีการติดป้ายห้ามเข้าในทุก ๆ ที่ มีการทำลายถนนดินที่เดิมใช้งานได้จนไม่สามารถใช้การได้อีก มีการนำลวดหนามมาขึงเพื่อขัดขวางการใช้ถนน

 

“เราไม่ได้พอใจแค่การยุติการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ หากเรายังมีความหวังที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการจัดทำกฎหมาย ซึ่งจะช่วยพวกเราในการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ”

 

พวกเราที่เป็นชาวบ้านจึงติดป้ายประท้วงรอบหมู่บ้านเช่นกัน ทางบริษัทก็ได้ลักลอบเอาป้ายของเราออกไป ทำให้เราโกรธมาก เราไม่สามารถอดทนต่อความอยุติธรรมเช่นนั้นได้ และได้รวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อต่อต้านโครงการเหมืองแร่ ตั้งแต่ประมาณปี 2553
ตั้งแต่เริ่มทำงาน การต่อสู้ของเราได้นำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งสนับสนุนให้เราสามารถใช้สิทธิในการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ เราจึงได้ทำการประท้วงและกระตุ้นให้รัฐสภาจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว

 

มีจุดเปลี่ยนหรือจังหวะไหนในชีวิตที่มีผลกระทบต่อตัวคุณ
และมีผลกระทบต่อการเดินทางของคุณจนถึงปัจจุบัน?

 

การหย่าขาดจากสามีเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต เพราะทำให้ดิฉันสามารถทุ่มเทเวลาทำงานได้เต็มตัว ดิฉันได้ไปของานทำและขอที่พักจากพี่สอ ที่มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เพราะดิฉันไม่รู้จักคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงต่อต้านโครงการเหมืองแร่ จากนั้นยังได้มีโอกาสรู้จักกับแกนนำขบวนการสิ่งแวดล้อมอีกหลายคน รวมทั้งพี่เลิศ และโครงการ PPM

 

การได้ทำงานกับคนเหล่านี้ ทำให้ดิฉันเห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงเฉพาะชุมชนของดิฉันที่ถูกเอาเปรียบโดยนักลงทุนหรือรัฐ แต่ปัญหาเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ ทะเล หรือป่าไม้ ในทุกแห่งหน ชุมชนถูกปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอันยิ่งใหญ่ที่เป็นผลมาจากรัฐ และได้ทำลายชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติใต้ดิน รัฐไม่มีความเข้าใจเรื่องมนุษยธรรม และไม่เข้าใจคุณค่าของชุมชนตามจารีต

ความเข้าใจเช่นนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของดิฉัน ทำให้ดิฉันเลิกล้มความฝันที่จะสร้างครอบครัวที่อบอุ่นและรักใคร่กัน จากการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย มาเป็นการเดินทางที่เสี่ยงภัยและอันตรายเพื่อต่อสู้กับปัญหาในระยะยาวและเชิงโครงสร้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับอันตรายด้านสิ่งแวดล้อมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับหลายชุมชนทั่วทั้งประเทศ

 

การทำงานเช่นนี้เป็นปัญหาท้าทายและยากลำบาก อะไรเป็นแรงบันดาลใจต่อคุณและช่วยให้คุณทำงานต่อไปได้?

 

แรงบันดาลใจที่ช่วยให้ดิฉันต่อสู้คือพี่น้องของพวกเราในชุมชน พวกเขาไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ไม่ว่าปัญหาจะยากลำบากและท้าทายมากเพียงใด พวกเขาไม่เคยปล่อยมือพวกเรา สิ่งที่เราคาดหวังคือโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตในชุมชนและใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุข ไม่ควรมีการไล่รื้อบุคคลหรือชุมชนในที่แห่งใดในโลก เพียงเพราะรัฐหรือนายทุนต้องการได้ทรัพยากรที่อยู่ใต้ผืนดินของเรา มันเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรี และเป็นการให้คุณค่ากับการพัฒนามากกว่าการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ การพัฒนาของรัฐจะมีประโยชน์อะไร หากทำให้คนในท้องถิ่นไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้?

สิ่งที่ทำให้เรารวมตัวกันได้คือความหวังที่จะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ทุกคนในชุมชนควรมีที่อยู่อาศัย และมีที่ดินทำกิน เราควรสามารถใช้ชีวิตและช่วยเหลือกันได้ ก่อนที่บริษัทเหมืองแร่จะเข้ามาในพื้นที่ ทุกคนต่างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดต่อกัน แทบไม่เคยมีการทะเลาะวิวาทในพวกเราเลย ไม่มีความแตกแยกในพวกเราเลย นั่นเป็นความหวังที่ดีสุดของเรา มันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนบริษัทเหมืองแร่จะเข้ามาในพื้นที่ ตอนนั้นพวกเราสามารถทำเกษตรอินทรีย์และมีความสามัคคีกัน ถ้าพวกเขาขอสัมปทานใหม่ หรือถ้าศาลอนุญาตให้พวกเขาทำเหมืองแร่ต่อไป เราก็จะต่อสู้ต่อไป เรายังมีการทำเกษตรอินทรีย์เป็นกิจกรรมร่วมกันที่ทำให้เราสามัคคีกัน


October 13, 2023 | Dominique Calañas


SHARE THIS: